อาจารย์หมอพอเพียง ศ.นพ.ธีระ ทองสง ผู้ปรารถนาชีวิตที่มีค่า มากกว่าชีวิตที่มั่งคั่ง



เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
นอกจากในหมู่ลูกศิษย์นักศึกษาแพทย์ หมอ พยาบาล  คงมีน้อยคนจะคุ้นชื่อนายแพทย์ธีระ ทองสง  ทั้งที่เขาถือเป็นคนสำคัญในการศึกษาวิจัยเพื่อควบคุมโรคร้ายแรงประจำภูมิภาคอย่างธาลัสซีเมียจนลดลงไปมากในภาคเหนือ และกลายเป็นองค์ความรู้ให้แก่วงการแพทย์ทั่วไป  แต่หมอสูติฯ แห่งโรงพยาบาลสวนดอก เชียงใหม่ คนนี้ก็พอใจที่จะทำหน้าที่อย่างผู้ปิดทองหลังพระ
ในบรรดาบุคลากรแพทย์เมืองไทยรู้จักชื่อเขาดี เพราะอาจารย์หมอผู้นี้มักได้รับเชิญไปบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสูตินรีเวชตามมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลอยู่เสมอ รวมทั้งในต่างประเทศด้วยก็นับเป็นร้อย ๆ ครั้ง  ในรูปแบบวิธีการบรรยายที่สนุก เร้าใจ ไม่น่าเบื่อ เป็นที่ติดอกติดใจของคนฟัง  ด้วยลีลาอารมณ์ของผู้มีวาทศิลป์ ลูกเล่น มุกตลก และสาระครบเครื่อง ราวนายหนังตะลุง-ผู้มีสื่อมัลติมีเดียอันทันยุคสมัยและแน่นหนาด้วยข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ ที่เขาลงมือค้นคว้าและผลิตด้วยตัวเองเป็นเครื่องมือ
เขายังเขียนตำราวิชาการไว้นับ ๑๐ เล่มซึ่งตีพิมพ์แพร่หลายเป็นที่ยอมรับ เป็นตำรามาตรฐานใช้ประกอบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในประเทศและนานาชาติเกือบ ๒๐๐ เรื่อง ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕  และเป็นศาสตราจารย์ระดับ ๑๑ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘  ได้รับยกย่องเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี ๒๕๕๐ และปี ๒๕๕๓  เข้ารับพระราชทานโล่จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
แต่เขาใช้ชีวิตอย่างธรรมดาและเรียบง่าย ขับจักรยานยนต์มาทำงาน และไม่ได้ซื้อโทรศัพท์มือถือไว้พกติดตัว
เขาว่าเขาเลือกที่จะพอ แม้โดยอาชีพจะมีโอกาสสร้างความร่ำรวยได้
โดยเฉพาะผู้มีบทบาทเป็น “ครู” เช่นเขาด้วยแล้ว ต้องเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์โดยวิถีชีวิต ยิ่งกว่าคำพูด
กระทั่งเมื่อปี ๒๕๔๖ เขาได้รับการยกย่องเป็นอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติจากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย  ปี ๒๕๔๗ รับโล่เกียรติคุณอาจารย์แพทย์ดีเด่นที่เป็นแบบอย่างในเชิงจริยธรรมคุณธรรมจากแพทยสภา  และอีกหลายรางวัล อาทิ นักศึกษาเก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สาขาวิชาการ) รางวัลช้างทองคำ (นักวิจัยดีเด่น) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ หลังทำหน้าที่อาจารย์แพทย์มาเกือบ ๓ ทศวรรษ
พื้นเพเดิมของ ศ.นพ.ธีระ ทองสง เป็นลูกชาวนาจังหวัดพัทลุง  จบ ม.ศ.ต้นจากโรงเรียนแถวบ้านเกิด แล้วมาเรียนต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ  จบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแพทยศาสตรบัณฑิตในสถาบันเดียวกัน  ได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล  แล้วไปฝึกอบรมเวชศาสตร์มารดาและทารกที่ประเทศเยอรมนีอีกเกือบ ๒ ปี
ปัจจุบันเขาประจำอยู่ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และเป็นนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช เชี่ยวชาญพิเศษด้านทารกในครรภ์ ประจำโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือโรงพยาบาลสวนดอก
ซึ่งนับตั้งแต่เรียนจบ เขาจะมาทำงานตั้งแต่เช้ามืดจนถึงดึกดื่นทุกวันไม่เว้นวันหยุด  นอกเวลาราชการเขาสอนพิเศษนักศึกษาแพทย์โดยไม่มีรายได้ใด ๆ มานับหมื่นชั่วโมง
“ทุกวัน เจ็ดโมงเช้าผมจะมาถึงที่นี่แล้ว”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ พูดมาจากหลังโต๊ะทำงาน มุมด้านในของห้อง ซึ่งอยู่รวมกับคนอื่น ๆ อีกเกือบ ๑๐ คน ในห้องหนึ่งบนชั้น ๓ ตึกบุญสม มาร์ติน โรงพยาบาลสวนดอก
โต๊ะทำงานของศาสตราจารย์ระดับ ๑๑ เป็นโต๊ะไม้เรียบ ๆ ขนาดไม่ใหญ่ ไม่หรูหรา  มีคอมพิวเตอร์รุ่นทันสมัย ๒ เครื่องวางอยู่ด้านหลัง สำหรับทำมัลติมีเดียสื่อการสอนและประกอบการบรรยาย
จากนั้นเขาก็เล่าถึงกิจวัตรแรกของวัน
“เป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว เราเรียก morning conference  เป็นการแชร์ประสบการณ์จากคนที่อยู่เวรมาทั้งคืน คนที่ไม่อยู่เวรก็จะมาร่วมฟังด้วย  มีอาจารย์ที่สนใจเวียนกันเข้ามาแสดงความคิดเห็นหรือให้ความรู้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้ป่วยรายใหม่ ๆ ที่แพทย์ประจำบ้านรักษาในคืนที่ผ่านมา  ผมเองเป็นตัวหลักที่ต้องมาทุกเช้าเป็นเวลากว่า ๒๐ ปีแล้วครับ  ก็เป็นการเพิ่มประสบการณ์การวินิจฉัยผู้ป่วยรายใหม่ ๆ ให้เราเอง  ผมคิดว่าอาชีพแพทย์จะต้องเพิ่มพูนประสบการณ์และทบทวนความรู้อยู่เสมอ ผ่านการเห็นมาก ทบทวนมาก นี่เป็นบทบาทหนึ่งของอาชีพแพทย์”
เขาเล่าเรื่องงานที่ทำ แล้วพูดไปถึงแนวความคิดของการทำหน้าที่อาจารย์หมอ
“เราต้องคิดว่าเช้าแล้ววันนี้เราจะต้องมีอะไรดี ๆ ไปแสดงความคิดเห็นให้แก่ลูกศิษย์ มันต้องฝึกให้อยู่ในสายเลือดเลยครับ เราต้องคิดว่าวันนี้เราพอจะให้อะไรใครได้บ้าง เราจะทำประโยชน์อะไรให้ภาควิชาหรือคณะได้บ้าง  ไม่ใช่ว่าวันนี้เราจะได้อะไรจากภาควิชาหรือคณะ ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ไม่สามารถมีชีวิตอย่างมีความสุขในวันนั้น  วิถีชีวิตที่ฝันใฝ่ในการให้ความรู้และดูแลสำคัญกว่า  กล่าวได้ว่าหน้าที่ครูจริง ๆ คือการสอนวิชาชีวิตและสอดแทรกวิชาชีพเพื่อทักษะในการสร้างประโยชน์ต่อไป”
ชั่วโมงถัดจากนั้นแต่ละคนก็แยกย้ายไปตามจุดต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ  เขาเองแม้เป็นอาจารย์ของนักศึกษาแพทย์ก็ยังเป็นหมอดูแลคนไข้ด้วย  เพียงแต่เขายืนยันว่าเขาไม่เคยหารายได้ด้วยการรับคนไข้พิเศษของตัวเอง นอกเหนือจากการตรวจรักษาคนไข้ทั่วไป (general)
“ถ้าเราทำ private practice หรือการรับคนไข้พิเศษ เราก็ไม่มีเวลาสร้างสรรค์หรือสุขใจกับการเรียนการสอน  อาจารย์แพทย์ที่ฝักใฝ่คนไข้พิเศษของตน ไม่มีความสุขกับการค้นคว้ามาแบ่งปัน เพราะอาชีพนี้มีความสุขที่จะให้ ไม่ใช่จะเอา  เราไม่สามารถมองการแพทย์เป็นการค้าได้  ครูแพทย์จำเป็นต้องไม่ทำ private practice  เราต้องไม่ประนีประนอมกับความผิดพลาด  คนไข้ทุกคนเป็น academic material เช่นการทำคลอด นักเรียนแพทย์ต้องเห็น  ถ้าทำคลอดผ่าตัด private โดยนักเรียนแพทย์ไม่เห็น ไม่ได้เรียนรู้ ผมจะรู้สึกบาป นี่คือการคอร์รัปชันเชิงวิชาการ  เพราะผมไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ผมคือครูแพทย์ ไม่มีลูกศิษย์คนใดนิยมชมชอบอาจารย์ที่เห็นแก่เงินมากกว่าเห็นแก่วิชาการ”
“เรียนจบเพื่อเป็นแพทย์ แล้วอาจารย์มาเป็นครูได้อย่างไรครับ ?”
“แพทย์จบใหม่ต้องออกไปอยู่ชนบท หรือเรียนแพทย์เฉพาะทาง  แต่ผมเองมีโอกาสเรียนต่อโดยไม่ต้องออกไปชนบท ซึ่งนี่ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่จะไปอยู่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ หรือโรงพยาบาลเอกชน  ส่วนการจะเป็นอาจารย์แพทย์ต้องคัดเลือกทางวิชาการ ผมก็เลือกมาทางนี้เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ชอบมากกว่า เพราะมันมีความหลากหลายทางวิชา ได้ความรู้ใหม่ ๆ”
แล้วเขาก็มาทุ่มเทให้แก่การศึกษาวิจัย กระทั่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อุบัติการณ์ของโรคธาลัสซีเมีย–โรคโลหิตจางที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและพบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ลดลงอย่างมากจากการวินิจฉัยก่อนคลอด โดยเฉพาะการเจาะเลือดทางสายสะดือทารก ที่เขาทำร่วมกับทีมเวชศาสตร์มารดาและทารก และห้องปฏิบัติการกุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศ.นพ.ธีระ ทองสง ให้ภาพกว้างอย่างย่นย่อก่อนอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับนวัตกรรมการแพทย์นี้ว่า
เป็นการอัลตราซาวนด์ตรวจหาโรคฮีโมโกลบินบาร์ท (Hb Bart’s) ซึ่งเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่สุด ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก คือปลายไตรมาสแรก หรือต้นไตรมาสที่ ๒ ของอายุครรภ์  ทารกที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะจำเพาะที่มองเห็นได้ผ่านอัลตราซาวนด์ ทำให้แพทย์วินิจฉัยได้ตั้งแต่ก่อนเกิดภาวะบวมน้ำซึ่งทำให้มารดามีอันตราย  ในรายที่ซีดรุนแรงแต่ยังไม่ใช่ฮีโมโกลบินบาร์ท แพทย์อาจเติมเลือดตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดยการเจาะสายสะดือ หรือยุติการตั้งครรภ์
การควบคุมโรคธาลัสซีเมียโดยวิธีการก่อนคลอด เน้นการรู้ล่วงหน้าเพื่อยุติการตั้งครรภ์ในรายที่เป็นชนิดรุนแรง หรือการเตรียมพร้อมสำหรับการมีลูกที่เป็นโรคนี้ โดยในชนิดที่เด็กเติบโตได้แต่ซีดในครรภ์ แพทย์ก็อาจใช้วิธีเติมเลือดทางสายสะดือ
“ปัญหาโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่ลดลงอย่างเป็นรูปธรรม จากผลงานวิจัยการควบคุมโรคธาลัสซีเมียด้วยยุทธวิธีก่อนคลอด (Prenatal control of severe thalassemia: prenatal control) และงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้กลายเป็นต้นแบบให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปประยุกต์ใช้ระดับประเทศ นับว่าผลงานวิจัยเชิงคลินิกของทีมงานได้มีผลระดับชาติในเชิงนโยบาย  งานวิจัยด้านคลื่นเสียงความถี่สูงของทารกในครรภ์ยังผลให้พบความพิการของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะโรคฮีโมโกลบินบาร์ทซึ่งเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่สุด โดยทั่วไปแล้วเด็กจะไม่อาจมีชีวิตรอดหลังคลอด ขณะเดียวกันยังทำให้มารดามีภาวะโรคแทรกซ้อนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพิษแห่งครรภ์ ชักแห่งครรภ์ บวมน้ำ คลอดยาก และตกเลือดหลังคลอด ทั้งหมดนี้เป็นภาวะที่ทำให้มารดามีอันตราย  และงานวิจัยจำนวนมากได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนา
สาขาวิชานี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับทารกบวมน้ำจากโรคฮีโมโกลบินบาร์ท ซึ่งเป็นความผิดปรกติของทารกในครรภ์ที่พบบ่อยที่สุดโดยเฉพาะในแถบภาคเหนือของประเทศไทย  งานศึกษาวิจัยนี้ทำให้วินิจฉัยโรคดังกล่าวได้ตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ ทำให้ภาวะบวมน้ำจากโรคฮีโมโกลบินบาร์ทของทารกลดลงอย่างมาก”
เราอยากรู้รายละเอียดที่มาที่ไปของงานนี้
เขาชวนให้ดูภาพบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ คลิกเมาส์ลากลูกศรไปตามจุดต่าง ๆ ของภาพ
“นี่คือหัวใจเด็ก คนทั่วไปดูไม่ออกหรอกว่ามันคืออะไร แต่ผมจะดูออก” เขาพูดแล้วหัวเราะกับทีเล่นของตัวเอง ก่อนเข้าเรื่อง  “นี่เป็นภาพอัลตราซาวนด์ ๓ มิติที่เราพยายามจะส่องดูทารกในครรภ์  เราวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอัลตราซาวนด์เยอะ โรคที่พบมากในภาคเหนือก็โรคธาลัสซีเมีย  ตอนผมเป็นนักเรียนแพทย์ พบปีละ ๓๐ รายที่มาฝากครรภ์ ถือว่าเยอะ  เด็กตัวบวม แม่ครรภ์เป็นพิษ ต้องผ่าทั้งที่ยังไม่คลอด  ซึ่งเดี๋ยวนี้อัลตราซาวนด์ช่วยได้มาก เพราะเราเห็นตั้งแต่ต้น เรามีวิธีวินิจฉัยจากอัลตราซาวนด์ ทำให้เราสามารถยุติการตั้งครรภ์”
“ในกรณีนี้มีคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมอย่างไรครับ ?”
“เราต้องเผชิญหน้าระหว่างความจำเป็นกับจริยธรรมอยู่เสมอ ๆ  แม่จำนวนมากต้องยุติการตั้งครรภ์เพราะเราไปรู้ไปเห็นว่าทารกผิดปรกติรุนแรงตั้งแต่เริ่มพัฒนาการ  แล้วบาปไหม ?  ในใจผมก็ว่าบาปเสมอแหละครับ ในการทำชีวิตผู้อื่นให้ตกล่วงไป ผิดทั้งจริยธรรมและข้อกฎหมาย  แต่จริง ๆ เราไม่ได้เป็นคนตัดสินอยู่ที่ครอบครัวเขาเอง  ในทางการแพทย์ความผิดปรกติในชีวิตเด็ก เขาก็ลำบาก แม่ก็ลำบาก เราก็บอกข้อมูลให้พ่อแม่ตัดสินใจเอง  แต่ผมก็รู้สึกว่ามันผิด จนต้องอุทิศส่วนกุศลให้แก่เขาเหล่านี้อยู่เสมอ ถึงแม้เราไม่ได้ทำเอง  จริง ๆ ผมไม่เคยทำแท้งให้ใครเลยนะ แต่ผมมีหน้าที่วินิจฉัย มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดด้วย  ที่วีระศักดิ์ถามมามันเหมือนเป็นจุดบอดที่ต้องเผชิญหน้ากันอย่างยากลำบาก  เด็กบางคนไม่มีหัว คลอดออกมาอย่างไรก็ต้องเสียชีวิต มันอยู่ที่ช้าหรือเร็ว  แต่ถ้าช้าจะเกิดปัญหากับแม่ อย่างเด็กบวมน้ำจากโรคฮีโมโกลบินบาร์ท แพทยสภายอมให้ยุติการตั้งครรภ์ แต่กฎหมายไม่อนุญาต กรณีนี้จึงเหมือนแพทยสภายอมเป็นจำเลยแทนหากมีการฟ้องร้อง  หรือกรณีธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง กระทรวงสาธารณสุขก็ยอมให้ยุติการตั้งครรภ์ เป็นนโยบายระดับชาติในการควบคุมโรคนี้  ผมก็ลำบากใจนะ ในชีวิตผมไม่เคยทำแท้งให้ใคร แต่ตรงนี้ผมก็มีส่วน”
“เกณฑ์ไหนที่อยู่ในข่ายยุติการตั้งครรภ์ได้”
“โรคที่เป็นอันตรายกับแม่ อันนี้กฎหมายอนุญาต อย่างแม่เป็นโรคหัวใจรุนแรง หรือความพิการในตัวเด็กเองที่เราคิดว่าไม่สามารถเลี้ยงรอดได้ เช่น เด็กไม่มีหัว เด็กตัวบวมน้ำ ซีดมาก เม็ดเลือดถูกทำลาย  เด็กหัวใจพิการ สมองไม่มี หรือความพิการรุนแรงอื่น ๆ ที่เราเจอเร็ว  แต่ถ้าเราเจอพ้นระยะแท้งแล้ว อย่างไรเราก็ไม่ทำ”
“ระยะที่ว่านั้นอยู่ตรงไหนครับ ?”
“ก่อน ๒๐ สัปดาห์ เลยจากนั้นไม่ได้ เหมือนทำคลอด”
“มีคนถามว่า หมออยู่ข้างนอก เด็กอยู่ในท้อง หมอรู้ได้อย่างไรว่าเด็กผิดปรกติ ?” เขาถ่ายทอดคำถามของคนเป็นพ่อแม่ แล้วให้คำตอบ “เรามองไม่เห็น แต่เรามีตาที่สาม  อัลตราซาวนด์คือตาที่สามของหมอสูติฯ  ในครรภ์มืด แต่เราใช้อัลตราซาวนด์เป็นแสงสว่างเพื่อรู้ว่าเด็กยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นสุขเป็นทุกข์อย่างไร  ตั้งแต่จบแพทย์เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ผมก็อยู่กับอัลตราซาวนด์มาตลอด  อยู่กับเด็ก คุยกับเด็ก วงเล็บว่า ‘ในครรภ์นะ’ ”
เขาติดตลกทิ้งท้ายประโยค แล้วเปิดให้ดูบางภาพตัวอย่างที่เขาทำเก็บไว้เป็นหมื่น ๆ ภาพ
“อย่างเคสนี้เด็กบวมน้ำครับ ตับโต หัวใจโต  วีระศักดิ์ดูไม่ออกอยู่ดี แต่ผมดูออก” เขาเว้นวรรคหัวเราะอีกครั้ง  “เราดูจากอีกหลายอย่าง เช่น เด็กซีด การปั๊มของหัวใจต่างออกไป การไหลเวียนของเลือดแตกต่างไป  ตับโต ม้ามโต เส้นเลือดบางเส้นโตกว่าปรกติ  มีน้ำในช่องท้อง ช่องปอด”
เขาคลิกเมาส์เปิดภาพต่อไป
“ภาพนี้เห็นชัดเจนมากว่าหัวใจโตขึ้นมากเมื่อเทียบกับทรวงอกเด็ก  หัวใจต้องประมาณ ๑ ใน ๓ แต่คนนี้เกือบเต็ม  ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย เราก็จะเจอได้  นี่เป็นตัวอย่างบางโรคจากอีกนับพันโรค”
จากนั้นเขาเปิดคลิปให้ดูภาพเคลื่อนไหว
“มัลติมีเดียผมทำไว้เยอะเพื่อเป็นสื่อการสอน  เขาว่าหนึ่งภาพแทนพันคำ แต่ของผม หนึ่งคลิปแทนพันภาพ  อัลตราซาวนด์วาดยากต้องใช้ของจริง วิธีแทงเข็มทำอย่างนี้…นี่ถ่ายขณะจิ้มเพราะต้องอัลตราซาวนด์ไปด้วย  นี่เป็นภาพจริงของการเจาะสายสะดือซึ่งยากกว่าการเจาะน้ำคร่ำธรรมดา เข็มที่แทงลงไปยาวราว ๓ นิ้ว”
“ดูเป็นงานที่ยากนะ และต้องแม่นมาก ๆ”  คนที่เคยจับแต่ปากกา ไม่เคยจับเข็ม ตั้งข้อสังเกต
“การแทงสายสะดือต้องดูอัลตราซาวนด์ และต้องฝึกการควบคุมเข็มกับมือนานพอสมควร  จิ้มเข็มทะลุหนังเข้าไป เด็กหนีเราจะทำอย่างไร  หรือหน้าท้องแม่หนา เอียงเข็มไม่ได้ ต้องทำอย่างไร  ผมมีตัวอย่างครบ เอาไว้สอนนักศึกษา แต่อย่าดูมากเลย เดี๋ยวเปลือง”  นพ.ธีระหัวเราะกับคำพูดเล่นของตัวเอง แล้วพูดจริงจัง  “จะยากหากสายสะดือเกาะกับรกพอดี  แต่ตรงไหนเราก็เจาะได้ เพื่อเติมเลือดให้เด็กในครรภ์ที่ซีด  เราน่าจะทำเยอะที่สุดในเมืองไทยมั้ง ในโลกก็เป็นไปได้ เพราะธาลัสซีเมียพบมากที่สุดในภาคเหนือ เราก็เจาะมากที่สุด  โรคนี้เป็นโรคประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  แพทย์รามาธิบดี ศิริราช ก็มาฝึกที่เรา เรื่องการเจาะสายสะดือ”
เรื่องนี้เขาได้เขียนบทความวิชาการไว้จำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นแพทย์ผู้มีงานวิจัยมากที่สุดในมหาวิทยาลัยที่เขาสังกัดก็เป็นได้
สิ่งที่เขาค้นพบจากการวิจัย ลองเสิร์ชข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเรื่องโรคธาลัสซีเมียของทารกในครรภ์ กับการเจาะสายสะดือทารกในครรภ์ จะพบงานวิชาการเรื่องนี้ ๑๗๙ เรื่องจากงานวิจัยของแพทย์ทั่วโลก  ในจำนวนนี้เป็นผลงานของ ศ. นพ. ธีระ ทองสง ๑๒ เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนแพทย์นับล้าน ๆ คนทั่วโลก
แต่เขาว่า
“เป้าหมายของการศึกษาไม่ได้อยู่ที่มีผลงานวิจัยสักกี่เรื่อง  แต่อยู่ที่การสร้างแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครใฝ่ดี และใฝ่รู้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด”
และว่าเป็นความสุขในการได้พบข้อเท็จจริงใหม่ ๆ
“มนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็นอยากค้นคว้า  ผมเองก็ไม่ได้ทำเพื่อขอตำแหน่งอะไร แต่เป็นกำลังใจให้น้อง ๆ  ถือเป็นงานบริหารสมองและชีวิตที่มีความสุขครับ  เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์แต่โบราณมา เขาวิจัยเพราะเป็นสุขที่จะค้นหา แต่ความรู้สึกนี้จะหายไปจากใจของแพทย์ที่มัวแต่ทำมาหากินแข่งรวยกับชาวบ้าน และเขาก็ไม่มีความสุขในการค้นหาและการค้นพบ”
อาจารย์ นพ.ธีระ ทองสง ขณะำกำลังสาธิตการตรวจอัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์ให้แก่สูติแพทย์ (ภาพ : ธีระ ทองสง)
การสอนของอาจารย์ นพ.ธีระไม่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนและในเวลาราชการเท่านั้น อย่างในภาพนี้เป็นการสอนแพทย์เฉพาะทางปีสุดท้ายอย่างเป็นกันเองในยามค่ำช่วงใกล้สอบ (ภาพ : ธีระ ทองสง)
ตกค่ำนอกเวลาราชการ จะมีนักศึกษาแพทย์เฉพาะทางสูตินรีเวชมาเรียนพิเศษกับเขา
“ผมสอนนอกเวลาช่วงกลางคืน ตอนสองสามทุ่มทุกวัน โดยไม่มีโอทีไม่มีค่าจ้าง  ทำมานานนับ ๒๐ กว่าปีแล้วตั้งแต่จบมาวันแรก  ไม่มีใครบันทึกเป็นผลงาน ไม่ถูกนับมาพิจารณาเงินเดือน ๒ ขั้น ๓ ขั้น  ไม่ใช่ spoon feeding นะครับ แต่เป็น Happiness-based Learning  เขาขอให้สอนหรือติวเพิ่มเติม โดยเฉพาะช่วงใกล้สอบมักจะถูกขอให้สอนไม่เว้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์”
“ทำไมจึงทำเรื่องนี้ ?”
“นี่เป็นบทบาทหนึ่งของอาจารย์  ผมจำได้สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ ผมก็ประทับใจอาจารย์บางท่านที่สอนนอกเวลา  การเรียนทุกวันนี้ต้องมีผู้ชี้นำให้ผู้เรียนคิดอ่าน ผมสอนโดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง Happiness-based Learning  ไม่สร้างบรรยากาศให้เขารู้สึกว่าต้องมาเรียน  ครูทุกคนต้องรู้ว่าธรรมชาติของมนุษย์อยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้ อยากเข้าใจ อยากคิดเองต่อ อยากมีความรู้ แต่หลายครั้งระบบการศึกษาเราคล้ายบังคับนักเรียนมานั่งฟังเลกเชอร์ เขาไม่มีความสุข เซลล์สมองเสื่อม  เขาเรียนด้วยความเครียด ไม่ได้เรียนแบบผ่อนคลาย  การสอนของผมจึงเป็นเพียงการเสนอทางเลือก ไม่บังคับให้ใครมาฟัง ไม่อคติกับลูกศิษย์ที่ไม่มาฟัง ทุกคนย่อมรู้ว่าตนเหมาะกับการเรียนแบบใด  จากประสบการณ์สอนแบบ optional มากว่า ๑๓,๕๐๐ ชั่วโมง ตลอด ๒๐ กว่าปีมานี้ ผมประจักษ์ชัดว่า Happiness-based Learning เป็นสิ่งสำคัญที่สุด และไม่อาจแยกออกจาก Student Centered ได้  ห้องแห่งการเรียนต้องเป็นห้องแห่งความสุข  นั่นหมายความว่าคุณครูต้องทำการบ้านอย่างหนัก พากเพียรมหาศาลในการทำให้ห้องเรียนน่าเรียน หมายถึง ได้เรียน ได้รู้ จบแล้วอยากเรียนอีก  นี่เป็นศาสตร์และศิลป์ของการสอนที่อาจารย์ต้องทุ่มเท ไม่อาจเกิดขึ้นเอง”
เขาเองทุ่มเทอย่างเต็มที่กับสิ่งนี้ รวมทั้งการพัฒนาความรู้ใหม่ ๆ ของตน และการผลิตสื่อเพื่อการสื่อสาร
กับเรื่องเครื่องมือมัลติมีเดียนั้น เขาว่า “ทำอย่างไรก็ได้ให้สิ่งที่เราอยากจะสื่อไปถึงเขา เราก็ต้องหาวิธีที่จะดึงความสนใจคนฟังเอาไว้  ใครทำให้นักศึกษาเบื่อเรียน หมดไฟ ถือว่าบาปครับ เพราะทำลายความใฝ่รู้ของนักเรียน ผมตระหนักตรงนี้ครับ  เราต้องทบทวนอย่างรีบด่วนถ้านักศึกษาเบื่อ อย่าทำลายความใฝ่รู้ของใคร อย่ากดดันใครให้มาฟังเราสอน ถ้าเขามาเขาต้องรู้สึกว่าเขาจะได้อะไรบ้าง  อย่าให้ใครต้องเรียนแล้วเครียดเพราะเจอเรา เขาจะไม่อยากมาอีกเลย  จงมีเสรีภาพในการเรียนรู้ เขาจะไม่ตัดอาจารย์ออกไปจากใจ”
คราวหนึ่งเขาได้รับเชิญมาบรรยายในงานประชุมวิชาการประจำปีของโรงพยาบาลศิริราช  เขามีเวลา ๓๐ นาที ในช่วง ๑๕.๐๐ น. ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมอยู่กับการรับข้อมูลทางวิชาการมาทั้งวัน และแอร์เย็นฉ่ำกับเก้าอี้นั่งแสนสบายแบบในโรงหนัง เป็นช่วงเวลาและบรรยากาศที่ชวนหลับเป็นอย่างยิ่ง
ได้เวลา ศ.นพ.ธีระ ทองสง ออกมายืนหน้าโพเดียมเพื่อบรรยายเรื่องภาวะทารกโตช้าในครรภ์ หรือ IUGR (Intrauterine growth restriction)  เขาเปิดไมค์พร้อมจะพูดแล้ว แต่คนในทีมผู้จัดงานเข้ามาขัดจังหวะด้วยการยกแท่นรองมาวางให้เขาขึ้นเหยียบเพื่อจะได้ยืนอยู่หลังโพเดียมอย่างสูงสง่า
“เขาคงเห็นว่าผมก็เป็นไอยูจีอาร์” นพ.ธีระอาศัยสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นเองทักทายแพทย์พยาบาลที่มาฟังเป็นประโยคแรก ซึ่งก็เรียกเสียงฮาครืนห้องประชุม
เข้าสู่การบรรยาย เขาบอก “ตามที่เราเรียนกันมาตอนเป็นนักศึกษาว่าไอยูจีอาร์มีอยู่ราว ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของทารกในครรภ์ เพราะวัดกันจากที่น้ำหนักน้อย ซึ่งคลอดออกมาเป็นเด็กปรกติก็เยอะ  อย่างคนที่ไปสร้างความเจริญให้จังหวัดสุพรรณบุรี นั่นอาจเป็นไอยูจีอาร์มาก่อนก็ได้”
ดอกนี้ก็เรียกเสียงฮาลั่นห้อง
“ผมพูดเล่นบ้าง กลัวพี่ ๆ น้อง ๆ จะหลับ  เรื่องนอนนั้นเรายังมีเวลาอีกมากในหลุมฝังศพ  ตัวเล็กแล้วฉลาดก็มีเยอะ คือน้ำหนักตัวน้อยแต่เป็นเด็กปรกติ  เราจึงต้องคิดให้มากกว่าคำจำกัดความเชิงพรรณนาที่เรียนกันมาเนื่องจาก หนึ่ง เด็กอาจตัวเล็กโดยธรรมชาติ เพราะเป็นคนพันธุ์เล็ก  สอง มีโรคในตัวเด็ก  เรื่องนี้ใช้อัลตราซาวนด์ตรวจหาได้  สาม ขาดสารอาหาร นี่เป็นเรื่องใหญ่ของเรา
“เดี๋ยวจะว่าไม่มีวิชาการเลย  ขอพูดถึงสาเหตุของโรค  ส่วนใหญ่เราไม่รู้ สันนิษฐานว่ามาจากการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า  ก็ฝากบอกสามีที่สูบบุหรี่ด้วยนะครับนะ แม้แม่จะไม่ได้สูบเองแต่ควันบุหรี่มือสองนั้นอันตรายยิ่งกว่า  อีกสาเหตุคือแม่อายุมาก  คนเดี๋ยวนี้ทำงานมากก็มีลูกช้า เหมือนอย่างพวกเราในที่นี้ จบเป็นหมอแล้วก็ไปเรียนต่อโน่นนี่  เรียน ๆ ไป กลับมาทำงานได้ ๒-๓ ปีก็เกษียณพอดี  ที่นั่งอยู่นี่ส่วนใหญ่ก็ดูใกล้ดอนเมืองแล้วละ คือเลยหลักสี่กันมาแล้ว” คนฟังหัวเราะยาว  เขาพูดต่อเมื่อเสียงหัวเราะซาลง  “เป็นช่วงสุดท้ายของการสัมมนาวันนี้แล้ว เดี๋ยวผมจะเลิกให้ท่านได้กลับบ้านแล้วละ แต่ขอเอาเรื่องสาระบ้าง  เราต้องแยกเด็กขาดสารอาหารออกจากเด็กเล็กเพราะผิดธรรมชาติ  ผมอยากจะย้ำว่าอัลตราซาวนด์บอกได้ ซึ่งบางครั้งต้องละเอียดเป็นพิเศษแม้ต้องใช้เวลาในเคสที่ควรช้า”
เขาบรรยายภาพในห้องอัลตราซาวนด์ที่ทำ ๆ กันอยู่ ซึ่งบางทีหมอก็เน้นความรวดเร็วจนแทบไม่ได้ดูคนไข้
“เอาขึ้นเตียง เปิดหน้าท้อง เอาเครื่องลง…รายต่อไป” เขาพูดเหมือนกำลังให้เสียงบรรยายสิ่งที่ดำเนินไปในห้องอัลตราซาวนด์  “เอาขึ้นเตียง เปิดหน้าท้อง เอาเครื่องลง  รายต่อไป ๆ  ขึ้นเตียง เปิดหน้าท้อง  ทำไมคุณท้องแฟบ คุณเป็นใคร  คนนั้นตอบ-เป็นญาติคนเมื่อกี้”
คนฟังได้ฮากันอีก
“กับบางรายที่ควรช้าก็ควรช้า เราอาจต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง”ตลอดการบรรยาย เมื่อพูดถึงเรื่องไหนเขาก็มีสไลด์หรือมัลติมีเดียเปิดให้ดูด้วย  และยังมีข้อมูลจากทั่วโลกที่เขาติดต่อค้นหาจากวงการแพทย์ระดับโลก
“อย่างเด็กคนนี้คลอดออกมาหนัก ๒๔๔ กรัม ถือว่าเป็นคนตัวเล็กที่สุดในโลก  ผมอีเมลไปถามเจ้าของไข้ เขาบอกแข็งแรงดี” เขาเปิดภาพขึ้นจอ เป็นเด็กทารกตัวเล็กขนาดนอนอยู่ในฝ่ามือได้  “อีกคน ๒๘๐ กรัม ตอนคลอดออกมาตัวเท่าโทรศัพท์มือถือ  ตอนถ่ายภาพนี้ ๑๕ สัปดาห์  ในภาพนี้เป็นรอยเท้าจริง ๆ ไม่ได้ย่อส่วน  สังเกตดูลายเท้าเต็มเท้า ก็หมายความว่าอายุครรภ์ครบเดือน”
ก่อนจบ เขายังให้กำลังใจในเชิงบวกด้วยข้อมูลซึ่งค้นคว้ามาอย่างแน่นหนาเช่นกันว่า
“ไม่อยากให้คนที่มีลูกตัวเล็กหมดความหวังไปเสียทีเดียว  เด็กหลายคนน้ำหนักน้อยแล้วโตขึ้นมาดี อย่างคนเหล่านี้” เขาพูดพลางเลื่อนภาพไปทีละภาพ  “จูเลีย โรเบิร์ตส์ ตอนเกิดก็น้ำหนักน้อย  ชาร์ลส์ ดาร์วิน  อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็น้ำหนักน้อย  พวกเราเชื่อไหม วินสตัน เชอร์ชิล ก็ด้วย  ด้านศิลปศาสตร์ก็มีปิกัสโซ  ไอแซก นิวตัน นี่ก็ใช่  ตอนนี้พวกท่านคงนึกอยากเกิดมาน้ำหนักน้อยกันบ้างแล้วใช่ไหม”
คนฟังรับคำด้วยเสียงหัวเราะ
เขาเล่นกับคนฟังต่อ  “ไอแซก นิวตัน นอนใต้ต้นอะไร ?”
“แอปเปิล”
“ครับ  แต่ถ้าพวกเราไปนอนใต้ต้นทุเรียนก็อาจเจ็บตัวฟรี  ผมยกตัวอย่างเหล่านี้มาให้ดูว่า ไม่ใช่จะเลวร้ายนะเด็กตัวเล็กนี่ เรายังมีหวังดี ๆ อยู่  เพียงแต่ว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้น  ขอบคุณครับ”
คนฟังซึ่งยังคงอยู่กันครบเต็มห้องประชุมแม้จะเลยกำหนดเวลามาแล้ว-ปรบมือยาวนาน
ความจริงเนื้อหาสาระของการบรรยายที่เขาอัดแน่นลงในช่วงเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงยังมีมากกว่านี้ แต่ตัดทอนนำมาเล่าต่อในที่นี้แต่เพียงบางส่วน พอให้เห็นสไตล์การบรรยายให้ความรู้เรื่องหนัก ๆ ด้วยลีลาวิธีการในแบบที่เรียกว่า “เอาคนฟังอยู่” อย่างนายหนังตะลุง หรือจะว่าเหมือนทอล์กโชว์ก็ดูไม่เกินเลยความจริง
เสร็จจากสอนตอนสามทุ่มแล้ว ในบางวันเขาก็ยังไม่ได้กลับบ้าน
“ช่วงหลังสามทุ่มไป จะได้รับโทรศัพท์ปรึกษาปัญหาบ่อย  คือเป็นที่รู้กันว่าหลังสามทุ่มสอนเสร็จแล้ว ลูกศิษย์ทั้งที่กำลังเรียนหรือจบไปเป็นหมออยู่ในที่ต่าง ๆ จำนวนมากโทร. มาปรึกษาเป็นครั้งคราว”
“หลังสามทุ่มก็ยังไม่ได้พัก ?”
“ยังไม่ได้กลับบ้าน  แต่อะไรคือการพัก ผมว่ามันอยู่ที่เราชอบจะทำ  ถ้าตื่นเช้ามา เฮ้อ วันจันทร์อีกแล้ว เราจะมีชีวิตอยู่อย่างรอคอยสี่โมงเย็น เหมือนเรามาติดคุก  แต่ถ้าเป็นงานที่เราชอบ เราทำต่อไปถึงไหนก็ได้ใช่ไหม เหมือนเป็นการพักผ่อน  ผมรู้สึกว่าพักผ่อนอยู่ทุกวันแล้ว ไม่เคยต้องการไปเที่ยวสนุกสนานที่ไหนไม่เคยเลยในรอบ ๒๐ กว่าปี  มีบริษัทยาให้ทุนหรือเงินไปประชุมวิชาการก็ไม่รับครับ ไม่เดือดร้อน  ยกเว้นไปเป็น invited speaker ที่องค์กรทางวิชาการสนับสนุนครับ”
ตามความเห็นของเขา หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของครูแพทย์คือการเป็นแบบอย่างให้แก่ศิษย์
“เราสอนด้วยคำพูดไม่เท่าการกระทำ  เราขาดแบบอย่าง เช่นถ้าเราสอนให้เขาตรงเวลาแต่เรามาสายเสียเอง  เราอาจไม่ต้องพูดมาก แค่เรามาตรงเวลาทุกวันเขาก็จะมาเอง ให้เขารู้สึกว่าความปรกติของแพทย์ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องตรงเวลา”
และสอนศิษย์ให้เห็นค่าและพอใจในการทำหน้าที่
“ผมว่าโชคดีของการเป็นครูคือโอกาสในการเป็นผู้ให้มีสูง นี่ถือเป็นความได้เปรียบในอาชีพนี้  และต้องพยายามให้ลูกศิษย์หาความสุขให้เจอ  จริง ๆ แล้วอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่มีความสุข การช่วยเหลือคนต้องนับว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่หลายคนในโลกนี้ไม่มีโอกาส  อย่างวันนี้สมมุติผมไปตรวจคนไข้ เห็นคนไข้ก็ว่า โอ้ ทำไมวันนี้มากันเยอะจัง เบื่อ เจ็บไข้อะไรกันนักหนา  ก็รู้สึกไม่มีความสุขแล้วใช่ไหม  แต่ถ้าเราวางใจได้ว่านี่เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เป็นงานที่สร้างรากฐานแห่งพระบิดาเลยนะ  วันนี้มีคนไข้มาเจอเราแล้วมีความสุขกลับไป แค่คิดก็มีความสุขแล้วใช่ไหม มันอยู่ที่ความคิดเชิงบวกของเรา”
เขาว่าชีวิตประจำวันของเขา ไม่อยู่ในห้องสอนก็อยู่ห้องรักษา
“เมื่อใดก็ตามที่เราได้ทำงานที่เราชอบ ก็เหมือนได้พักผ่อนทั้งชีวิต ที่ทำงานก็เลยเป็นที่ที่น่าไปมากที่สุด  มีงานจำนวนมากที่ทำให้พักผ่อน อย่างเรื่องความรู้ที่เราสนใจ เรื่องที่จะนำไปถ่ายทอด  มันอยู่ที่วิธีคิด เมื่อเรารักงานวิชาการ งานสร้างหมอ และงานสร้างคน เราจะไม่ต้องการอะไรอีก”
เป็นชีวิตประจำวันที่ผ่านไปโดยที่เขาพอใจ
“ผมมีเวลาวันละ ๒๔ ชั่วโมง แต่ไม่เคยสูญหายไปกับเฟซบุ๊กหรือสิ่งเริงรมย์ใด ๆ  เนื่องจากใจมันมีอยู่ ไม่เคยต้องแสวงหาเดินทางไปหาความสุขที่ใด  อยู่ในห้องทำงานปะปนไปกับผู้คนที่ทำงาน ไม่แยกห้องส่วนตัว  ปัจจุบันเงินเดือนข้าราชการของผมมีพอสำหรับแบ่งให้แม่ให้ครอบครัว ไม่รู้สึกว่าต้องแสวงหาแต่ประการใด”
“กับการลงแรงไปมากมายอย่างนี้ คิดว่าได้อะไรตอบแทนบ้าง ?”  เราแทรกคำถามขึ้นกลางความฉงนใจ
“สิ่งดีงามทำแล้วได้กำไรเสมอ ความดีเป็นการลงทุนที่ไม่มีวันล้มละลาย  การให้ที่ไม่หวังผลไม่มีวันเศร้าหมอง หมายถึงให้โดยไม่ต้องรอเสียงปรบมือ กำไรทุกวัน ได้ความรู้สึกดี หรือการอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งซื้อด้วยเงินแสนเงินล้านไม่ได้  ความสุขสร้างได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยเงินครับ  เราหาเงินไปเพื่อซื้อหาความสุข แต่เราอาจลืมไปว่าในโลกนี้มีความสุขมากมายที่คนเราเก็บเกี่ยวได้โดยไม่ต้องใช้เงินทอง สุขใจได้โดยไม่ต้องตระเวนท่องเที่ยวทั่วโลกหรือเสพสิ่งบันเทิงใด ๆ  สุขได้โดยไม่ต้องอุปโลกน์ตนให้ดูหรูด้วยอุปกรณ์ประดับบารมี ซึ่งเราก็รู้อยู่แก่ใจว่านั่นเป็นสิ่งสมมุติทั้งสิ้น”
ในช่วงหนึ่งของการพูดคุย เขาพูดอีกประโยคหนึ่งอย่างหนักแน่นว่า  “การได้ใช้ชีวิตครู ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก”
“โอกาสในที่นี้ไม่ใช่โอกาสที่จะมีตังค์นะ  ที่จริงในชีวิตผมมีโอกาสที่จะมีเงินล้านได้ เพราะเป็นคนมีโอกาสทางวิชาชีพแพทย์สูง  มีทักษะที่สามารถแสวงหารายได้จากการทำ private practice แต่ผมทำเฉพาะเคสสามัญ ซึ่งไม่มีรายได้  ผมใช้ชีวิตโลโซ ผมไม่มีคนไข้พิเศษที่รักษาแบบส่วนตัว”
เขามักนิยามตัวเองว่าเป็น “แพทย์โลโซ” ด้วยความชื่นชมในชีวิตที่ “อยู่อย่างต่ำ แต่มุ่งกระทำอย่างสูง”
“ผมใฝ่ฝันที่จะพอมากกว่าที่จะมีนะครับ  ผมอยากมีชีวิตที่มีคุณค่ามากกว่าชีวิตที่มั่งคั่ง เพราะมันสงบสุขได้ง่ายกว่ากันเยอะ  มีเท่าไรก็ไม่พอจริง ๆ นะ เพราะเราหวังว่ามันจะนำมาซึ่งความสุข  แต่ความสุขมีอยู่มากมายในโลกนี้ที่เราเก็บเกี่ยวได้โดยไม่ต้องใช้เงินทอง  ผมว่าทุกเช้าตื่นมาเราต้องถามหาสิ่งสวยงามในชีวิตวันนี้พอจะให้อะไรใครได้บ้าง  หรือการวิเคราะห์โรคของคนไข้ก็เป็นสิ่งดี ๆ ประจำวัน มันไม่ต้องใช้เงินทองอะไร จะให้ผมไปหาเงินทองเยอะ ๆ ผมก็คงหาได้ แต่ผมไม่คิดว่ามันจะมีประโยชน์อะไรมาก”
“ก็ซื้อบ้านซื้อรถ ?”
“ครับ ทุกคนมาถึงขั้นนี้ก็ต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ถ้ามีกันหมดทั้งประเทศคงลำบากนะ  ผมว่าต้องมีบ้านอยู่รวมกันบ้าง  ผมไม่มีบ้าน ตอนนี้อยู่บ้านหลวงก็สะดวกสบายดี เกษียณแล้วยังไม่รู้จะไปที่ไหน เดี๋ยวว่าจะซื้อกระโจมวิปัสสนามาใช้”
ดูเหมือนเขาจะพูดเล่น ๆ แต่อาจจะทำจริงเมื่อวันนั้นมาถึง
“ถ้าถามว่าอยากได้ไหม  ผมว่ามีก็ดี ไม่ได้ดูถูกการมีบ้าน มีรถ หรือมีอะไรทุกอย่าง”
“ถ้ามีรถสักคัน เวลาจะไปไหนก็คงสะดวก”
“ครับ น่าจะสะดวก แต่ผมไม่ค่อยไปไหน ผมเลยใช้มอเตอร์ไซค์  ถ้าอยู่ไกลผมก็อาจจะใช้รถยนต์  แต่ทุกวันนี้เรามีเกินใช่ไหม  กลายเป็นว่าเรามีรถไว้ต่างหน้า ไม่ได้มีไว้ต่างตีน  ผมเน้นความจำเป็นเป็นหลัก”
ทุกวันนี้ลูกศิษย์ลูกหาและคนในโรงพยาบาลสวนดอกจะคุ้นกันดีว่าอาจารย์แพทย์คนนี้ยังคงขับมอเตอร์ไซค์มาทำงาน และถ้าจะตามหาตัวเขาก็ต้องโทรศัพท์ไปที่ทำงานเท่านั้น เขาไม่มีโทรศัพท์มือถือ แต่หาตัวไม่ยาก
“อย่างเรื่องโทรศัพท์มันมีใช้อยู่เนี่ย” เขาชี้ไปที่โทรศัพท์ตั้งโต๊ะ  “โทร. สะดวก ผมไม่อยู่ที่นี่ก็อยู่ห้องตรวจ  ถ้าโทร. มาแล้วผมไม่รับ ก็แปลว่าไม่ใช่เวลาที่สะดวกจะคุย  ส่วนคอมพิวเตอร์นี่ส่วนใหญ่ลูกศิษย์ซื้อให้ สอนมาเป็นปี ๆ บางทีเขาก็อยากซื้อให้บ้าง ส่วนมากผมใช้ในส่วนของงานวิชาการ ผลิตสื่อ  ถึงผมจะดูโลโซแต่ผมก็ไฮเทคนะ”
“น่าจะหายาก ข้าราชการระดับสูงเช่นอาจารย์ที่ขับมอเตอร์ไซค์มาทำงาน”
“ผมมิได้ต้องการสร้างภาพแห่งความสันโดษใด ๆ และไม่เคยไปต่อต้านใคร ๆ  แต่ไม่แนะนำให้ใครมีรถเพียงเพื่อประดับบารมี  มีรถมอเตอร์ไซค์ ผมชินกับมันมายาวนานกว่า ๒๐ ปี  ไม่ใช่มาสร้างภาพเป็นครูสันโดษเอาในวันสองวัน  ผมไม่เคยรู้สึกว่าขับรถยี่ห้อแพงจะทำให้ชีวิตดีขึ้น ความโลภลดลง ความหลงหายไป ความโกรธเจือจาง  ยิ่งตอบสนองก็ยิ่งต้องการไม่สิ้นสุด มากมีเพียงใดก็ถือว่าจนอยู่ดี คือเป็นคนขาดอยู่เสมอ”
“ผมอยากถามถึงแนวคิดที่ทำให้อาจารย์เลือกวิถีชีวิตเช่นนี้”
“ผมไม่ได้สร้างภาพชีวิตพอเพียงตามกระแส แต่เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ย่างเท้าก้าวแรกมาเป็นอาจารย์  หน้าที่ครูคือทำให้เขาใฝ่ดี  ความใฝ่ดีถือว่าต้องใช้ปัญญาสูงสุด เพราะมันทำให้มนุษย์มีความสุข ปัญญาสร้างความสุขได้มากกว่าเงินครับ  ผมจึงอยากให้ทุกคนใฝ่ฝันที่จะพอมากกว่าใฝ่ฝันที่จะมี  ความเพียงพอคือความร่ำรวยที่แท้จริง  ที่มนุษย์พยายามครอบครองกันอยู่ทุกวันนี้เป็นเรื่องเหลวไหล  ผมไม่อยากให้พลังชีวิตถูกใช้ไปกับการไขว่คว้าแสวงหาอะไรมาครอบครอง เพียงเพื่อรอวันที่มันหมดความหมายไป หรืออยู่อย่างหวาดหวั่นรอวันพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ  แต่อยากจะใช้พลังชีวิตที่มีออกไปสร้างสรรค์ ซึ่งคนเรามีศักยภาพที่จะคิดทำสร้างสรรค์ได้มากมาย”
“มีอาจารย์ทำให้เห็นอยู่เป็นแบบอย่างในความสมถะ แล้วเกิดศิษย์ที่ตามรอยครูไหมครับ ?”
“มันตอบยากครับ  พยายามสอนอย่างนี้ แต่ผลแค่ไหนประเมินยาก เพราะคนทุกวันนี้ถูกสิ่งจูงใจดึงไป  ลำพังผมคงเป็นแบบอย่างอะไรได้ไม่มากตามที่ตั้งใจ แต่ก็น่าจะมีส่วนบ้าง เพราะลูกศิษย์ลูกหาคิดถึงอยู่เวลาเขามีเรื่องอะไร  ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก แต่สมัยนี้มีสิ่งดึงดูดใจเขาเยอะ  เขาอยู่ไม่ค่อยสุขเพราะถูกกระทำด้วยสื่อ อินเทอร์เน็ตเข้าไปทีก็หายไปวันหนึ่งแล้ว แรงจูงใจเยอะทำให้เขาอยู่ไม่สุข  มันมี perfect image ที่เขาอยากจะเป็น เด็กผู้หญิงต้องรูปร่างแบบนี้ รูขุมขนกว้างก็ไม่ได้นะคนทุกวันนี้ ผิวคล้ำก็ไม่ได้  เป็นเรื่องเหลวไหลทั้งนั้น แต่ถูกกล่อมอยู่ทุกวัน  ดูสิ ไวต์เทนนิ่งฟอร์เมน ผมต้องซื้อกี่กระปุกจึงจะขาวขึ้นมาบ้าง” เขาหัวเราะขบขันคำแซวตัวเอง
“ดูฟุตบอลยูโรกันไหม ?” จู่ ๆ เขาก็เป็นฝ่ายตั้งคำถามบ้าง
“ไม่ครับ” เราตอบตามจริง
“โอ้ ดีมากเลย ซึ่งเราไม่ได้เป็นญาติอะไรกับสเปนหรือกับใครในทีมนี้  โรนัลโด้กับผมก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกัน  บางคนเอาเป็นเอาตาย เสียเวลาเยอะเลยครับ  พวกนักศึกษาหรือหมอก็เหมือนกัน โอ้โห ติดตาม จำได้แม้แต่ประวัตินักฟุตบอล ทีคนใกล้ตัวกลับจำไม่ได้  เราถูกบรี๊ฟจากสิ่งเหล่านี้เยอะ เราคุยกันทางอินเทอร์เน็ตกับคนต่างประเทศ แต่ลืมความสัมพันธ์ที่ดีกับคนข้างเคียง เด็กทุกวันนี้จึงมีปัญหากันเยอะ คือเป็นคนสมบูรณ์แต่เป็นคนพิการในความรู้สึก  อย่างคนไทยที่สวยเป็นปรกติมาชั่วนาตาปี ตอนนี้เป็นคนพิการเพียงเพราะตัวเตี้ย สูงเท่าเดิมแต่ความรู้สึกต่างกันเพราะมีคนคอยบอกเขาว่าต้องสูงแบบฝรั่ง แบบนางแบบ ซึ่งแต่เดิมคนสูงมาก ๆ เราว่าเหมือนเปรต  เราเคยสมบูรณ์อ้วนนิดหนึ่งก็ไม่เห็นเป็นไร น่ารักดี เป็นนางเอกหนังอินเดียยังได้เลย  ทุกวันนี้น้ำหนักเพิ่มขีดเดียวมันบาดใจ เพิ่ม ๑ ขีดเป็นเรื่องใหญ่  นักศึกษาแพทย์เองก็ตกอยู่ในกลุ่มนี้ ต้องหาเงินเยอะ ๆ ไม่สวยก็ต้องทำศัลยกรรม  เราถูกกระทำทางความคิดจนกลายเป็นความพ่ายแพ้ทางวัฒนธรรม”
ทำงานมากมายขนาดนี้ กับวัย ๕๕ ปี เมื่อถูกถามว่ามองตัวเองเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตไหม
ศ.นพ.ธีระ ทองสง ตอบว่า
“การประสบความสำเร็จในชีวิตสำหรับผมคงไม่ได้หมายถึงการมีอะไรมากมายในชีวิต  อย่าถามถึงยอดเงินในบัญชีหรืออสังหาริมทรัพย์ มันน้อยมากครับถ้าเทียบกับโอกาสที่ผมมีในการไขว่คว้า  ตำแหน่งทางวิชาการที่สูงสุดจนไม่มีที่ไปแล้วก็ไม่ใช่หรอก ผลงานด้านการวิจัยก็ถือเป็นผลพลอยได้ในชีวิตครู  การประสบความสำเร็จในชีวิตจะของครูหรือคนทั่วไป ก็เพียงการยืนเดินนั่งนอนได้อย่างเบิกบานแจ่มใส สุขใจ  ทุกเช้าได้ตื่นมาถามหาสิ่งดีงามในชีวิตให้แก่ตนเองและผู้คนข้างเคียง  แต่ต้องถามว่าวันนี้พอจะให้อะไรใครได้บ้าง ไม่ว่าความรู้ หรือความรักกรุณา  คนเราควรมีสิ่งดี ๆ ที่ลับตาคนซ่อนไว้ให้ตนศรัทธาในตนเองโดยลำพังบ้าง  ขอให้ผมได้มีโอกาสชื่นชมตัวเองบ้างโดยไม่ต้องมีใครจดจำ ไม่ต้องมีใครจารึกชื่อไว้เป็นตำนาน  เพราะถ้ามัวแต่แสวงหาการยอมรับ รอคอยเสียงปรบมือ ชีวิตก็จะร้อนเต็มไปด้วยความล้มเหลว  การประสบความสำเร็จนั้นอยู่ที่เราสามารถสุขใจได้โดยไม่ต้องมีใครมาแห่แหน”

Comments

Popular posts from this blog

การทำเกษตรผสมผสาน

คำคมจาก หนังสร้างแรงบันดาลใจ: The Pursuit of Happyness