เมื่อไรที่ยึดติด ไอเดียสร้างสรรค์ก็หายไป


จาก Bizzweek Business School 17 Nov 2006
โดย อ.รัศมี ธันยธรผู้อำนวยการศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ www.creativitycenter.co.th
คำถามที่มีคนถามกันมากที่สุด ทั้งที่เขียนมาถาม และถามเมื่อได้พบปะกันคือ อยากมีความคิดสร้างสรรค์จะทำอย่างไรดี
คำถามนี้ดูง่ายๆ ไม่ซับซ้อนอะไร แต่คำตอบไม่ง่าย และไม่สั้นแน่นอน เวลาอยู่ในวงสนทนาใดก็ตาม ถ้ามีคนถามคำถามนี้ ดิฉันก็จะบอกให้เขาค่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ ก็จะพอได้ คนฟังก็จะบอกว่าคิดไม่ค่อยออกเลย เพราะเหตุผลต่างๆ กันตามสถานการณ์ สรุปก็คือ คิดอย่างไรก็คิดไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร ดิฉันก็ได้แต่ยิ้มด้วยความเข้าใจ โดยไม่พูดอะไรมาก
ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีประสบการณ์มาพอสมควรในการตอบคำถามนี้แก่ผู้คน แรกๆ ที่เริ่มบุกเบิกงานด้านการสอนความคิดสร้างสรรค์ พอมีคนถามก็ตอบเขาไปอย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้น พอเขาถามต่อ และคะยั้นคะยอให้บอกมากขึ้น ดิฉันก็มักบอกเขาอย่างจริงใจว่า ถ้าได้เรียนความคิดสร้างสรรค์และได้ฝึกจริงๆ จะคิดได้แน่นอน ในฐานะที่สอนเรื่องนี้มาเกือบสิบปียืนยันได้
ถ้าใครไม่จำเป็นต้องคิดในการทำงานก็ไม่ต้องไปเรียน แต่ถ้าจำเป็นต้องคิดในงานจริงๆ ก็ขอให้บริษัทส่งไปเรียนอย่างถูกหลักวิชาการจริงๆ วันข้างหน้าเวลามีปัญหา หรือจะคิดงานอะไร จะไม่มีคำว่าคิดไม่ออกอีกเลย
คนทุกคนมีศักยภาพที่จะมีความคิดสร้างสรรค์กันได้ทุกคน แต่มีปัจจัยบางอย่างที่เป็นสิ่ง "สกัดกั้น" ความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน เมื่อท่านผู้อ่านรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งสกัดกั้นก็พยายามขจัดสิ่งสกัดกั้นนั้นๆ ออกไปให้ได้ คนที่ไม่มีสิ่งสกัดกั้นก็จะคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ดีกว่าคนที่มีสิ่งสกัดกั้น คนที่ได้รับการฝึกฝนในหลักสูตรโดยตรงก็จะคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่าคนที่ไม่มีสิ่งสกัดกั้นแต่ไม่ได้รับการฝึกมาโดยตรง นี่เป็นความจริง เรามารู้จักกับสิ่งสกัดกั้นกันนะคะ
สิ่งสกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่
การติดรูปแบบ (Stereotype) ในชีวิตประจำวันของเรา เราเห็นภาพเดียวกันในครอบครัวและสังคม เราอ่านหนังสือเรียนเล่มเดียวกัน ดูรายการโทรทัศน์รายการเดียวกัน แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าทำนองเดียวกัน รับประทานอาหารแบบเดียวกัน อ่านหนังสือพิมพ์เหมือนกัน ทำให้ความคิดของเราคนในสังคมเดียวกันเหมือนกัน คล้ายกัน จนเป็นแบบแผนเดียวกันที่ครอบใจของเราอยู่ เรียกว่า รูปแบบ ซึ่งใครเขาก็ทำกัน ใครเขาก็คิดกัน ความคิดที่เรามีอยู่จึงเหมือนกับของคนอื่นที่ทำตามๆ กันมา ใครทำอะไรที่แตกต่างจากรูปแบบ จะรู้สึกว่าอันตราย
เวลาเราติดในรูปแบบแล้ว ชีวิตและการกระทำของเราก็จะถูกชี้นำด้วยความคิดที่ว่ามันน่าจะเป็นอย่างไร เรามักจะคิด รู้สึก และกระทำในแบบที่คนทั่วไปเชื่อว่าเราควรจะคิด ควรจะรู้สึก และควรจะกระทำอย่างนั้น บ่อยครั้งที่เราก็รู้อยู่ว่า การกระทำและความรู้สึกของเรานั้นไม่ใช่ของเราจริงๆ ไม่ได้มาจากปฏิกิริยาแท้ๆ จากใจของเราเลย มันเป็นเพียงลักษณะภายนอกที่หลอกลวงเท่านั้น
เวลาจะเลือกว่าจะลงมือทำอะไรสักอย่าง สำหรับสถานการณ์นั้นๆ เราจะทำตามหลักการ และวิธีการที่เราเคยเห็นและเคยรู้ว่าคนเขาทำกัน หรือ ทำตามสิ่งที่เราเคยทำมาก่อน สุดท้ายเราก็พบว่าตัวเราเองมีชีวิตอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการของคนอื่นเป็นส่วนใหญ่ จนคล้ายกับไม่มีเราอยู่เลย
ความใหม่ และใช้ประโยชน์ได้ตรง คือ แก่นแท้ของความคิดสร้างสรรค์ที่แท้จริง เนื่องจาก การติดรูปแบบเป็นการติดอยู่กับแบบอย่างเดิม และการคิดสร้างสรรค์ เป็นการคิดเพื่อให้ได้แบบใหม่ ผลจึงออกมาชัดเจนว่า การติดรูปแบบย่อมเป็นกสนสกัดกั้นเราไม่ให้สามารถคิดใหม่ได้ หรือทำให้เราคิดใหม่ได้ยาก เวลาเราพยายามคิดหาความคิดใหม่ๆ ความคิดเดิมตามรูปแบบที่ติดอยู่ในใจของเรามาช้านานก็จะคอยตรึงเราไว้ให้นึกได้แต่ความคิดเดิมๆ ด้วยความเคยชิน
คำว่าคิดไม่ออกที่เราท่านรู้จักกันทุกคนนั้น ก็คือ คิดออกนอกความคิดเดิมไม่ได้ความคิดเดิมที่เป็นรูปแบบติดอยู่ในความทรงจำของเรานั้นเหมือนแกจับจองอาศัยอยู่ในห้องความคิดของเรามาคนเดียวเป็นเวลานาน เหมือนเรามีคำตอบอยู่คำตอบเดียวในหัวใจ ถ้าเราพยายามตั้งใจที่จะคิดสร้างสรรค์หาความคิดใหม่ด้วยการบอกกับตัวเองว่า นอกจากคำตอบที่มีอยู่แล้วนี้ จะมีคำตอบอะไรอื่นอีกบ้าง
หากเราไม่ค่อยได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์มา เรามักจะรู้สึกงงๆ มืดแปดด้านไปหมด หาทางออกไม่เจอ ไม่รู้จะคิดไปทางไหนได้ อยากแต่จะกลับมาทางเก่า ทางเดิม แต่ก็รู้ว่าไม่ถูกวิธี ในที่สุดก็เกิดอาการ อึดอัดใจ ขึ้นมา ด้วยอาการ “คิดไม่ออก” การติดรูปแบบจึงเป็นสิ่งสกัดกั้นคนให้คิดสร้างสรรค์ได้ยากมาก (แต่มีวิธีที่ฝึกแล้วพอแก้ได้)
นอกจากนั้น ผลการวิจัยด้านความคิดสร้างสรรค์พบว่า นอกจากการติดรูปแบบจะเป็นตัวสกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองแล้ว ยังสามารถสกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของคนอื่นด้วย การติดรูปแบบของคนรอบข้างสร้างความรู้สึกกดดันให้กับเราเวลาเราเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนคิดอะไรใหม่ๆได้แล้ว มักจะไม่อยากบอกความคิดให้แก่คนรอบข้าง คือคิดได้แต่ก็ไม่อยากจะบอก
ลองนึกภาพดูว่า มีทีมงานทีมหนึ่งกำลังนั่งหารือกันเพื่อจะวางแผนกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ในการทำงาน คนในทีมงานติดรูปแบบกันบ้างมากน้อยแล้วแต่บุคคล เมื่อมีคนเสนอแผนงานที่เหมือนครั้งที่แล้ว ก็จะมีคนค้านว่าเหมือนเดิม ไม่เห็นมีอะไรใหม่ เราน่าจะทำอะไรใหม่ๆ บ้างเพื่อให้ธุรกิจคึกคักขึ้น พนักงานที่ทำงานนั้นก็จะได้ชีวิตชีวาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย ทุกคนเห็นด้วย ทุกคนอยากได้ของใหม่มาผสมกับของเดิมที่ดีอยู่แล้ว
พอมีคนเสนอความคิดใหม่ซึ่งไม่เหมือนเดิมขึ้นมาจริงๆ การติดรูปแบบจะเริ่มออกทำงานทันทีอย่างที่เจ้าตัวก็ไม่ทันรู้ ด้วยการแสดงปฏิกิริยาโต้แย้งด้วยความรู้สึกขัดใจว่า ความคิดนั้น แปลก ประหลาดที่สำคัญคือ “ดูไม่ดีเลย” อารมณ์จะขุ่นมัว และ เริ่มหาจุดอ่อนและข้อบกพร่องเพื่อมายืนยันให้ทราบว่าความคิดนี้สู้แบบเดิมไม่ได้ ดูซิ ตรงนั้นก็เป็นอย่างนี้ ตรงนี้ก็เป็นอย่างนั้น ทำแล้วแน่ใจหรือว่าจะได้ผล ไม่มีใครเคยทำมาก่อนแล้วจะทำได้อย่างไง ใครจะทำก็ทำ แต่ไม่ใช่ฉัน ถามจริงๆ ของเดิมมันแย่มากเลยหรือไง ฯลฯ
อิทธิพลของการติดรูปแบบนั้นมีมากมายมหาศาล และเป็นใหญ่ครอบครองพื้นที่ในใจของคนมาโดยตลอด การติดรูปแบบจึงสกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของทั้งตนเองและคนรอบข้าง คนที่จิตใจเข้มแข็งพอเท่านั้นที่จะอดทนฝ่าด่านนี้ได้ และพัฒนาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของตนต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

Comments

Popular posts from this blog

การทำเกษตรผสมผสาน

คำคมจาก หนังสร้างแรงบันดาลใจ: The Pursuit of Happyness