ฉลาดใช้ & ออมเงินแบบสาวนาโกย่า

Posted by เกตุวดี Marumura on 15/3/2559 8:00:00
ฉลาดใช้ & ออมเงินแบบสาวนาโกย่า

นาโกย่าเป็นเมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น รองจากโตเกียวและโอซาก้า รอบนอกเมืองเป็นที่ตั้งบริษัทขนาดใหญ่ เช่น โตโยต้าและ Densoคนญี่ปุ่นทั่วไปมักมองว่า คนนาโกย่าใช้เงินฟุ่มเฟือย เนื่องจากคนเมืองนี้นิยมสินค้าแบรนด์เนม การแต่งงานของคนจังหวัดนี้ขึ้นชื่อเรื่องความอลังการ ฟุ่มเฟือย ทว่าหากดูตัวเลขเงินออมทั่วประเทศจะพบว่า คนนาโกย่าเก็บเงินได้มากเป็นอันดับ 5 เมื่อเทียบกับคน 47 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะเดียวกันอัตราหนี้ในครัวเรือนก็ต่ำมาก

ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเก็บออมเงินคงหนีไม่พ้นสตรีนาโกย่านั่นเอง จากบทความ “สอนลูกฉบับนาโกย่า” ดิฉันประทับใจในความฉลาดหลักแหลมของคุณแม่ชาวนาโกย่าเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น พวกเธอสอนลูกสาวว่า ถ้าจะเลือกแฟน อย่าดูแค่หน้าตา ต้องดูคนที่รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ หรือมีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง เพราะผู้ชายเหล่านี้จะไม่ตกงานง่าย ๆ

ในสายตาดิฉัน สาวนาโกย่าจึงเป็นผู้หญิงที่ฉลาด รู้จักวางแผน ดิฉันจึงลองค้นหาเทคนิคการออมเงินของพวกเธอ บอกได้เลยค่ะว่า ไม่ผิดหวัง .... พวกเธอมีวิธีการออมเงินแบบพิเศษจริง ๆ

“ใครว่าการออมเงินเป็นเรื่องน่าเบื่อ” โดย สาวนาโกย่า

1. ราคาไม่ใช่ทุกสิ่ง 


เวลาสาวฉลาดและช่างวางแผนอย่างสาวนาโกย่าซื้อของ พวกเธอไม่ได้ซื้อเพราะของชิ้นนั้นราคาถูก หรือกำลังลดราคา แต่พวกเธอจะพิจารณาคุณค่าที่จะได้รับจากของสิ่งนั้น เธออยากได้จริงหรือเปล่า ของชิ้นนั้นจะใช้ได้นานหรือไม่ กระเป๋าแฟชั่นใบละ 2 พันบาท อาจมีลวดลายสวยงาม และราคาไม่แพงนัก ทว่า ใช้เพียงไม่กี่เดือนก็พังเสียแล้ว กรณีเช่นนี้ ถือว่า “คุณค่า” ของกระเป๋าใบนี้ยังไม่สูงนัก

กระเป๋าแบรนด์หนึ่งที่เป็นที่นิยมของสาวนาโกย่า คือ “หลุยส์ วิตตอง” สาเหตุที่พวกเธอชื่นชอบ ไม่ได้มีเพียงแค่ดีไซน์อย่างเดียว แต่สาว ๆ เห็นว่า กระเป๋าหลุยส์ใช้ได้นาน ทน ส่งซ่อมได้ ถ้าไม่ใช้ ก็สามารถขายต่อหรือสามารถให้คนอื่นโดยที่ผู้รับยังรู้สึกดี

เพราะฉะนั้น เวลาสาว ๆ ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม พวกเธอจะเก็บถุงผ้า ถุงกระดาษไว้อย่างดี เผื่อนำไปขายต่อ ได้เงิน และตู้เสื้อผ้าก็โล่งด้วย ... ช่างวางแผนจริง ๆ

2. ชีวิตประจำวันอันแสนเรียบง่าย 


จากข้อ 1. ดูเหมือนสาวนาโกย่าจะเป็นแฟชั่นนิสต้าบ้าแบรนด์ แต่จริง ๆ แล้วในชีวิตประจำวัน พวกเธอใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง ก่อนไปซื้อวัตถุดิบทำอาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เธอจะเปิดตู้เย็นตรวจสอบให้แน่ใจว่า ใช้วัตถุดิบเก่าหมดแล้ว หากยังเหลือวัตถุดิบอยู่ ก็พยายามดัดแปลงนำมาทำเป็นเมนูอาหาร ไม่ทิ้งขว้างให้เสียของ

นอกจากอาหารการกินแล้ว สาวนาโกย่าก็ใส่ใจเรื่องของใช้ส่วนตัว เช่น ลิปมัน ดินสอเขียนคิ้ว สาวนาโกย่าจะระมัดระวัง ไม่ซื้อของใหม่โดยที่ยังใช้ของเก่าไม่หมด

3. มีเป้าหมายในการเก็บเงินที่ชัดเจน 


คนนาโกย่ามักจะมีธรรมเนียมการออมเงินเป็นเรื่องปรกติ โดยคนส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายในการออมเงิน เช่น เก็บเงิน 40 ล้านเยนเพื่อซื้อบ้านให้ได้ หรือเก็บเงินปีละ 3 ล้านเยนเพื่อเป็นค่าเรียนพิเศษให้ลูก เป้าหมายที่ชัดเจนเหล่านี้ทำให้ชาวนาโกย่ามุ่งมั่นในการสะสมเงินให้ครบตามเป้าหมาย และไม่หวั่นไหวกับสินค้าลดราคาหรือของฟุ่มเฟือย

นอกจากเป้าหมายใหญ่ ๆ แล้ว พวกเธอยังมีเป้าหมายเล็ก ๆ และรู้จักให้รางวัลตัวเองด้วย เช่น หากสัปดาห์นั้น เธอสามารถเก็บเงินได้ 1 หมื่นเยน เธอก็จะซื้อขนมเค้กชิ้นเล็ก ๆ เป็นรางวัล การตั้งเป้าหมายทั้งเล็กและใหญ่ ตลอดจนการให้รางวัลตัวเองนั่นเอง ทำให้พวกเธอมีแรงออมเงินต่อไป (อ่านบทความ ประหยัดเงิน ใคร ๆ ก็ทำได้ ง่ายกว่าที่คิด ได้ที่นี่)

4. รู้จักให้ 


จากข้อ 1-3 เราอาจคิดว่า สาวนาโกย่านั้นขี้งก แต่ความจริงไม่ใช่เลย พวกเธอเป็นผู้ให้ที่น่ารัก เวลาไปหาเพื่อนหรือไปเยี่ยมญาติ พวกเธอมักจะซื้อขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ติดมือไปฝากเสมอ การเห็นผู้อื่นมีความสุข หรือการได้รับคำขอบคุณ จะทำให้จิตใจเธอมีความสุขไปด้วย ยกระดับจิตใจให้พ้นจากความครุ่นคิดแค่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ

การเผื่อแผ่เอื้ออาทรกันเช่นนี้ ทำให้สาว ๆ ไม่รู้สึกอึดอัดกับการเก็บเงินเพียงอย่างเดียว เธอได้รับความรัก คำขอบคุณ ตลอดจนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ๆ ญาติ ๆ แน่นอน พวกเธอมักได้รับขนมหลากหลายอย่างหรือของจุกจิกน่ารัก ๆ จากคนอื่นเช่นกัน ชีวิตสาวนาโกย่าจึงสนุกและมีความสุขนั่นเอง

สำหรับคุณผู้อ่านหลาย ๆ ท่านแล้ว การออมเงินอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อ หรือน่าลำบากใจ แต่จากชีวิตสาวนาโกย่า เราจะเห็นได้ว่า ชีวิตพวกเธอไม่ได้น่าเบื่อ ในทางกลับกันพวกเธอสนุกที่จะเก็บเงินเพื่อใช้ในสิ่งที่พวกเธอต้องการ พวกเธอสนุกที่จะหาวิธีใช้ของที่มีอยู่ให้คุ้มค่า ไม่ใช้ของแบบทิ้งขว้าง สิ่งสำคัญ คือ เธอยังเป็นผู้ให้ที่ดี และสนุกกับการรับของและคำขอบคุณจากผู้อื่นด้วย

ลองสนุกและสุขกับวิธีออมเงินฉบับสาวนาโกย่ากันนะคะ

เกี่ยวกับผู้เขียน
เกตุวดี Marumura อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ผู้เขียนหนังสือ "Japan Gossip: เม้าท์ญี่ปุ่นให้คุณยิ้ม" และ "สุโก้ย! Marketing: ทำไมใครๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น" ปัจจุบันเป็นอาจารย์ด้านการตลาดและถ่ายทอดประสบการณ์ 8 ปีในญี่ปุ่นผ่านคอลัมน์ Japan Gossip ในเว็บ Marumura.com

Comments

Popular posts from this blog

การทำเกษตรผสมผสาน

คำคมจาก หนังสร้างแรงบันดาลใจ: The Pursuit of Happyness