ธรรมะจากเรื่องพระมหาชนก...วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร

ธรรมะจากเรื่องพระมหาชนก
พุทฺธวิริโย  ภิกฺขุ - - ผู้เขียน
                 ได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระมหาชนก" ฉบับการ์ตูน  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดัดแปลงมาจากชาดก  จึงอยากให้ทุกท่าน  มีหนังสือเล่มนี้ไว้ประจำบ้าน  เพราะราคาไม่แพง  แค่เพียงเล่มละ ๓๕ บาทเท่านั้น  ผู้ใดได้อ่านหนังสือเรื่องพระมหาชนก  ก็เหมือนกับได้เข้าเฝ้าในหลวง ณ เบื้องพระยุคลบาท
                  ธรรมะข้อแรก  ที่ได้จากเรื่องพระมหาชนก  ก็คือการตั้งสัตยาธิษฐานของพระโปลชนกที่ว่า  "ถ้าข้าพเจ้าคิดไม่ซื่อกับพระเชษฐาจริง  ขอให้เครื่องจองจำจงคงตรึงมือและเท้าของข้าพเจ้าไว้  แม้ประตูก็จงปิดสนิท  แต่ถ้าข้าพเจ้ามิได้มีจิตคิดทรยศ  ขอให้เครื่องจองจำจงหลุดจากมือและเท้าของข้าพเจ้า  แม้ประตูก็จงเปิดออก"
                  คำว่า "สัตยาธิษฐาน"  แยกได้สองคำดังนี้คือ  สัจจะ + อธิษฐาน  หมายความว่า  ให้ตั้งสัจจะขึ้นมาก่อน  แล้วจึงอธิษฐานตามหลัง  ดังเช่นที่พระโปลชนกตั้งสัจจะว่า  "ถ้าข้าพเจ้าคิดไม่ซื่อกับพระเชษฐาจริง"  แล้วจึงอธิษฐานตามหลังว่า  "ขอให้เครื่องจองจำจงตรึงมือและเท้าของข้าพเจ้า  แม้ประตูก็จงปิดสนิท"  ดังนี้เป็นต้น
                  การตั้งสัตยาธิษฐานของผู้มีศีลมีธรรม  ย่อมสำเร็จสมประสงค์เป็นแน่แท้
                  แม้ในสมัยปัจจุบัน  ถ้าหากเรากำลังประสบกับอุปสรรคหรือปัญหาชีวิต  ก็สามารถที่จะตั้งสัตยาธิษฐาน  เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์นั้นได้  โดยการตั้งสัตยาธิษฐานดังนี้...ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี  พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า  ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้  ขอให้ความสวัสดี(ความปลอดภัย)จงมีแก่ข้าพเจ้าฯ
                  ธรรมะข้อที่สอง  เมื่อเรือใกล้จะแตกกลางทะเล  หมู่ชนกลัวมรณภัย  ร้องไห้คร่ำครวญ  กราบไหว้เทวดาทั้งหลาย  แต่พระมหาชนกไม่ทรงกันแสงคร่ำครวญ  และไม่ไหว้เทวดาทั้งหลาย  แต่ทรงคลุกน้ำตาลกับเนย  เสวยจนเต็มท้อง  แล้วชุบผ้าเนื้อเกลี้ยงสองผืนด้วยน้ำมันจนชุ่ม  ทรงนุ่งผ้าให้มั่น  แล้วขึ้นไปบนเสากระโดงเรือกระโดดลงมา  เพื่อให้พ้นจากบริเวณที่เรือแตก
                  ข้อคิดจากตรงนี้ก็คือ  การที่พระมหาชนกไม่มัวแต่กราบไหว้เทวดาเหมือนคนอื่น  เพราะถ้ามัวแต่กราบไหว้อ้อนวอนเทวดา  ก็คงจะต้องตายอยู่กลางทะเลเป็นแน่แท้  แต่พระองค์ทรงใช้หลักการพึ่งตนเอง  ดังพุทธพจน์ที่ว่า  "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน  บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งให้เราได้ตลอดไป"
                  ธรรมะข้อที่สาม  ซึ่งถือกันว่ามีความสำคัญที่สุดของเรื่องนี้  อันแสดงถึงพระวิริยปรมัตถบารมีที่พระมหาชนกทรงบำเพ็ญ  คือคำโต้ตอบระหว่างนางมณีเมขลากับพระองค์กลางทะเล
                  นางมณีเมขลากล่าวว่า  "ใครหนอ  พยายามว่ายน้ำในมหาสมุทร  อันแลไม่เห็นฝั่งอยู่เช่นนี้  ท่านเห็นประโยชน์อะไร  จึงได้พยายามว่ายอยู่อย่างนี้ ?"
                  พระมหาชนกตอบว่า  "ดูกรเทพธิดา  เราได้พิจารณาเห็นธรรมเนียมของโลก  และผลของความพยายาม  จึงได้พยายามว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรอันแลไม่เห็นฝั่งนี้"
                 นางมณีเมขลาถามอีกว่า  "ฝั่งของมหาสมุทรไม่ปรากฏแก่ท่าน  ถึงท่านจะพยายามว่ายน้ำไป  ก็จะต้องตายเสียก่อนที่จะถึงฝั่งแน่แท้"
                  พระมหาชนกตอบว่า  "ดูกรเทพธิดา  เมื่อบุคคลทำความเพียรอยู่  ถึงจะตายไปก็ได้ชื่อว่าไม่เป็นที่ติเตียนของบิดา-มารดาวงศาคณาญาติตลอดถึงเทพยดาทั้งหลาย  อีกประการหนึ่ง  เมื่อบุคคลตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างสุดความสามารถแล้ว  ย่อมจะไม่เสียใจภายหลัง"
                  นางมณีเมขลากล่าวว่า  "การพยายามทำงานอันใดแล้วยังไม่สำเร็จ  แต่เกิดอุปสรรคถึงกับเสียชีวิตไปก่อน  ก็ไม่ควรทำความพยายามนั้นเลย  เพราะความพยายามที่ทำมาทั้งหมด  สูญเปล่า"
                  พระมหาชนกตอบว่า  "ผู้ใดรู้ว่าการงานที่ทำไปจะไม่สำเร็จ  แล้วไม่รีบหาทางป้องกันภัยอันตราย  บุคคลนั้นชื่อว่าไม่รักษาชีวิตตน  ถ้าบุคคลนั้นละความเพียรเสีย  ก็จะได้รับผลแห่งความเกียจคร้านของตน  บางคนได้เห็นผลแห่งความประสงค์ของตน  แล้วตั้งใจทำงาน  ถึงการงานจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม  ก็ได้เห็นผลงานประจักษ์แก่ตน
                  ท่านจงดูคนทั้งหลายที่มาในสำเภาเดียวกับเราเถิด  คนพวกนั้นพากันย่อท้อต่ออันตราย  ไม่พยายามว่ายน้ำจนสุดความสามารถก่อน  จึงพากันจมน้ำตายในมหาสมุทรทั้งสิ้น  เหลือแต่เราผู้เดียวที่สู้ทนว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรอยู่ถึง ๗ วันเข้าแล้ว
                  บัดนี้  เราได้เห็นผลของความเพียรนั้นแล้ว  คือเราได้เห็นท่านซึ่งเป็นเทวดาที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย  ท่านจะมาบอกว่าความพยายามของเราสูญเปล่าได้อย่างไร ?  เพราะฉะนั้นเราจักพยายามว่ายน้ำอีกต่อไป  จนกว่าจะถึงฝั่งแห่งมหาสมุทรให้จงได้"
                  นางมณีเมขลาได้ฟังดังนั้นก็เกิดความเลื่อมใส  สรรเสริญพระมหาชนกว่า  "ท่านได้เพียรสู้ทนว่ายน้ำข้ามทะเลทั้งใหญ่ทั้งลึกหาประมาณมิได้  จนถึงกับไม่จมน้ำตาย  บุรุษเช่นท่านหาได้ยากในโลก  ท่านประสงค์จะไปที่ใด  ดิฉันจะไปส่ง"  แล้วจึงอุ้มพระมหาชนกไปส่ง ณ ที่ที่พระองค์ประสงค์จะไป  คือเมืองมิถิลานคร
                  ธรรมะข้อที่สี่  หลังจากที่พระมหาชนกทรงครองราชย์แล้ว  พระองค์ทรงระลึกถึงความหลังที่ทรงทำความเพียร ณ ท่ามกลางมหาสมุทร  จึงทรงมนสิการ(รำพึง)ในใจว่า  "ขึ้นชื่อว่าความเพียร  ควรทำแน่แท้  ถ้าเราไม่พยายามว่ายน้ำกลางทะเลจนถึงวันที่ ๗  เราคงตายไปกลางทะเลแล้ว  คงจักไม่ได้ราชสมบัตินี้"
                  เมื่อพระองค์ทรงอนุสรณ์ถึงความเพียรนั้น  ก็เกิดปีติโสมนัสซาบซ่าน  จึงทรงเปล่งอุทานด้วยพระกำลังปีติว่า
       "บุรุษผู้เป็นบัณฑิต  ควรพยายามร่ำไป  ไม่ควรเบื่อหน่ายในกิจของตน
      จงดูเราซึ่งได้ขึ้นสู่บกและได้ครองราชสมบัติเป็นตัวอย่าง
       คนเป็นอันมากเมื่อกำลังประสบทุกข์  จะไม่ตั้งใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
       แต่เมื่อได้รับความสุข  จึงตั้งใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
       ส่วนบุคคลผู้มีปัญญา ถึงแม้กำลังประสบทุกข์ก็ไม่สิ้นหวังว่าจะไม่ได้ประสบสุข
       เพียรสู้ทนทำหน้าที่ของตนอย่างสุดความสามารถ  ย่อมจะประสบความสำเร็จแน่นอน
       เพราะว่าสิ่งที่มิได้คิดไว้ล่วงหน้าอาจเกิดขึ้นก็ได้
       สิ่งที่คิดไว้ล่วงหน้าอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้
       ทรัพย์สมบัติทั้งหลายของบุรุษหรือสตรี 
       ไม่อาจสำเร็จ(เกิดขึ้น)ได้เพียงแค่ความคิด
       (แต่สำเร็จลงได้ด้วยการลงมือกระทำเท่านั้น)"
                  คำว่า "สิ่งที่มิได้คิดล่วงหน้า  อาจเกิดขึ้นก็ได้"  หมายความว่า  พระมหาชนกมิได้ทรงดำริไว้ล่วงหน้ามาก่อนเลยว่า  จะได้ครองราชสมบัติด้วยวิธีเช่นนี้
                   คำว่า "สิ่งที่คิดไว้ล่วงหน้า  อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้"  หมายความว่า  พระมหาชนกทรงดำริไว้ล่วงหน้าว่า  จะไปค้าขายทางสุวรรณภูมิ  เมื่อได้เงินมาก็จะทำการซ่องสุมผู้คน  และจะทำการยุทธ์เพื่อยึดกรุงมิถิลาคืนมา  แต่สิ่งที่คิดไว้ทั้งหมดกลับตาลปัตร
                   ดังนั้น  ชนผู้ไม่ประมาท  ควรเตรียมตัวให้พร้อม  เพื่อรับกับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน
                  ธรรมะข้อที่ห้า  ก่อนที่พระมหาชนกจะเสด็จออกผนวชได้ไม่นาน  พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า  บรรพชิตเป็นเพศที่ประเสริฐที่สุดในโลก  ประเสริฐกว่าแม้เพศแห่งพระราชา  (อิมมฺหา  ราชเวสา  ปพฺพชิตเวโส  วรตโร)
                  ตอนท้ายของพระราชปรารภเรื่องพระมหาชนกนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลิขิตปริศนาธรรมไว้ว่า  "ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์  ปัญญาที่เฉียบแหลม  กำลังกายที่สมบูรณ์"
                 เคยมีการนำเอานักวิชาการหลายท่านมาตีความทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑  ว่า  "ความเพียรที่บริสุทธิ์หมายถึงอะไร ?  ปัญญาที่เฉียบแหลมหมายถึงอะไร ?  และกำลังกายที่สมบูรณ์หมายถึงอะไร ?  ปรากฏว่าข้อที่หนึ่ง  ไม่มีใครตอบถูกแม้แต่คนเดียว
                 ความเพียรที่บริสุทธิ์ในทางศาสนา  หมายถึงสัมมาวายามะ  ได้แก่ความเพียรที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ๔ ประการคือ
                     ๑. เพียรระวังไม่ทำบาปที่ยังไม่เคยทำ
                  ๒. เพียรระวังไม่ทำบาปที่เคยทำมาแล้ว
                  ๓. เพียรกระทำกุศลธรรมชนิดใหม่ที่ตนยังไม่เคยทำ
                  ๔. เพียรกระทำกุศลธรรมที่เคยทำมาแล้วให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
                  ความเพียร ๔ ประการนี้เท่านั้น  ที่จัดเป็นยอดแห่งความเพียรที่บริสุทธิ์  ส่วนความเพียรอื่น ๆ  เช่น  เพียรจีบสาว  หรือเพียรลักขโมย  จนประสบความสำเร็จ เป็นต้น  ไม่จัดว่าเป็นความเพียรที่บริสุทธิ์
                 ปัญญาที่เฉียบแหลม  หมายถึง  อริยปัญญา  คือปัญญาที่ชำแรกกิเลส  ปัญญาที่เอาชนะกิเลสได้  แต่ในเรื่องพระมหาชนกนี้  หมายถึงเชาวน์ปัญญาและปฏิภาณปัญญา  คือปัญญาที่คิดและรู้อะไรได้รวดเร็วว่องไว  ดังเช่นที่พระมหาชนกทรงรู้หัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม  และทรงสามารถไขปริศนา(ลายแทง)แห่งขุมทรัพย์ ๑๖ ขุมได้เป็นผลสำเร็จ
                 ปัญญาที่เฉียบแหลม  เกิดจากความเพียรพยายามฝึกฝนอบรม  และหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ  ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า "โยคา  เว  ชายเต  ภูริ = ปัญญาเกิดจากการหมั่นฝึกฝน"
                 นอกจากนี้  ปัญญาอันเฉียบแหลม  ยังหมายถึง  ปัญญาที่โน้มเอียงมาทางธรรม  ดังเช่นพระมหาชนกทรงพิจารณาเห็นว่า  "ต้นมะม่วงที่มีผล  ถูกมหาชนรุมเก็บกินจนหักโค่นลงมา  ส่วนต้นมะม่วงที่ไม่มีผล  กลับตั้งตระหง่านอยู่ตามปกติ"
                 พระองค์ทรงได้ความสังเวชว่า  "แม้ราชสมบัตินี้  ก็เช่นกับต้นไม้มีผล  บรรพชาเช่นกับต้นไม้ไม่มีผล  ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล  ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีกังวล  เราจักไม่เป็นเหมือนต้นไม้มีผล  แต่จักเป็นเหมือนต้นไม้ไม่มีผล  เราจักเสด็จออกบรรพชา"
                  พระมหาชนกดำริต่อไปอีกว่า  "พวกศัตรู  ย่อมประสงค์จะฆ่าเราผู้มีสมบัติเหมือนกับต้นไม้ที่มีผลฉะนั้น  อุปมาดั่งเสือเหลือง  ย่อมถูกคนฆ่าเพราะหนัง  ช้างพลายย่อมถูกคนฆ่าเพราะงา  คนมีทรัพย์ย่อมถูกคนฆ่าเพราะทรัพย์  ฉันใด  คนไม่มีเหย้าเรือนและไม่เกี่ยวข้องด้วยกิเลสตัณหาย่อมไม่มีใครฆ่า  เหมือนกับต้นมะม่วงที่ไม่มีผล  ฉันนั้น"
                 แม้ในปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน  ได้อ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสด  ฉบับวันที่ ๑๒ ตุลาคม  ๒๕๔๒  คอลัมน์สกู๊ปพิเศษหน้าที่ ๑๐  เรื่อง  "จังหวัดลพบุรีใช้ ส.จ.  และ  กำนันเปลือง"  เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้  เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เป็นอันมาก  คนเหล่านี้เป็นดุจต้นไม้มีผล  จึงต้องถูกฆ่า
                 สมดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลิขิตไว้ในพระราชปรารภว่า "สิ่งใดดี  มีคุณภาพ  จะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่ง  และจะเป็นอันตราย  ในท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา"
                  กำลังกายที่สมบูรณ์  หมายถึง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรชาวไทยทุกคน  ดูแลรักษาสุขภาพของตนให้แข็งแรงดุจพระมหาชนก  อย่าได้เป็นสิงห์ขี้ยาหรือเป็นทาสยาเสพย์ติด  เพราะผู้ที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ยิ่งใหญ่  จะต้องมีร่างกายที่สมบูรณ์เป็นพื้นฐาน
                 การที่พระมหาชนกประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวัง  เพราะพระองค์ทรงพรั่งพร้อมด้วยคุณธรรม ๓ ประการ  คือ
                   ๑. มีความเพียรที่บริสุทธิ์
                   ๒. มีปัญญาที่เฉียบแหลม  และ
                   ๓. มีกำลังกายที่สมบูรณ์
                  ดังนั้น  ผู้ที่อยากจะประสบความสำเร็จในวิชาชีพของตน  จงพยายามบำเพ็ญธรรม ๓ ประการนี้  ให้เกิดมีในตนเถิด
                  "แม้นผู้ใด  ใครทั้งปวง  อยากล่วงทุกข์
               ประสบสุข  แสนประเสริฐ  อันเลิศล้ำ
               เพราะความเพียร  ดอกหนา  พาพ้นกรรม
               จึงพบธรรม  สัมมา  ค่าที่เพียร"
                                       พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘/๑๑๒
                                                 พุทฺธวิริโย   ภิกฺขุ

Comments

Popular posts from this blog

การทำเกษตรผสมผสาน

คำคมจาก หนังสร้างแรงบันดาลใจ: The Pursuit of Happyness